จากเด็กระเบิดที่กล้าสั่งรุ่นพี่ กลายเป็นส่วนเกินที่ โชเซ มูรินโญ หมางเมินในทีมเชลซี ก่อนคืนชีพจนเป็นจอมทัพระดับโลกที่แมนฯ ซิตี้ อะไรที่ทำให้ เควิน เดอ บรอยน์ ได้รับการยอมรับ ไปติดตามกัน
- เด็กระเบิดที่กล้าสั่งแม้กระทั่งรุ่นพี่ และกัปตันทีม
- เกือบได้ร่วมงานกับ คลอปป์ ก่อนพบฝันร้ายที่ เชลซี
- ความเชื่อใจของ เป๊ป ก่อกำเนิดจอมคาถาแห่ง แมนฯ ซิตี้
ศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2019/20 ที่ผ่านพ้นไป แม้ในส่วนของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะต้องยอมสยบให้กับความยอดเยี่ยมของ ลิเวอร์พูล ที่เถลิงแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 30 ปี ด้วยช่องว่างที่ห่างกันถึง 18 คะแนน แต่ในแง่ของผลงานส่วนบุคคลนั้น ถือเป็น 1 ในซีซั่นที่ดีที่สุดของ “เควิน เดอ บรอยน์”
102 ประตูที่ “เรือใบสีฟ้า” ทำได้ในพรีเมียร์ลีกนั้น เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเบลเยียมมีส่วนร่วมโดยตรงถึง 33 ประตู หรือคิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ จากการลงสนาม 35 นัด แบ่งเป็น 13 ประตู 20 แอสซิสต์ ซึ่งก็เพียงพอที่จะชนะใจเพื่อนร่วมอาชีพในการโหวตให้เขาคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งอังกฤษ (พีเอฟเอ) เหนือ 5 ผู้ท้าชิงอย่าง ซาดิโอ มาเน, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ และ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ จากลิเวอร์พูล รวมถึง ราฮีม สเตอร์ลิง เพื่อนร่วมทีมแมนฯ ซิตี้
สำหรับ 20 แอสซิสต์ที่จอมทัพวัย 29 ปีทำได้ เทียบเท่ากับสถิติสูงสุดใน 1 ฤดูกาลของพรีเมียร์ลีกที่ เธียร์รี อองรี ตำนานดาวยิงของ อาร์เซนอล ทำไว้ในฤดูกาล 2002/03 และหากการผ่านบอลให้ สเตอร์ลิง ยิง “ปืนใหญ่” ในเกมที่ “เรือใบสีฟ้า” บุกไปถล่ม 3-0 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีที่แล้ว ไม่ไปแฉลบปลายเท้าของ คาลัม แชมเบอร์ส เล็กน้อยก่อน ป่านนี้เจ้าของสถิติแอสซิสต์แห่งพรีเมียร์ลีกคงได้เปลี่ยนมือไปแล้ว
ตลอด 5 ปีกับ แมนฯ ซิตี้ นั้น เดอ บรอยน์ ทำแอสซิสต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีกได้ถึง 3 ซีซั่น แบ่งเป็น 18 แอสซิสต์ในฤดูกาล 2016/17 กับอีก 16 แอสซิสต์ในฤดูกาล 2017/18 ส่วน 20 แอสซิสต์ในซีซั่นล่าสุด หากนับโอกาสที่สร้างสรรค์ให้เพื่อนร่วมทีมลุ้นทำประตูแบบละเอียดแล้ว เขาก็ยังนำโด่งเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักเตะของพรีเมียร์ลีกอยู่ดี
แต่กว่าจะมาเป็นราชาแอสซิสต์ของพรีเมียร์ลีกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นลีกที่โหดหินที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก เดอ บรอยน์ เองก็ต้องผ่านบททดสอบและพิสูจน์ตัวเองมาไม่น้อย เราย้อนไปดูจุดกำเนิดของ “พ่อมดจอมคาถาแห่งทัพเรือใบสีฟ้า” กัน
เด็กระเบิดที่กล้าสั่งแม้กระทั่งรุ่นพี่ และกัปตันทีม
เฮอร์วิก คุณพ่อของ “เคดีบี” เล่าว่าตอนที่ลูกชายยังเด็ก ของเล่นที่เขาเรียกหามากที่สุดมีเพียง “ลูกฟุตบอล” และจะพยายามหาที่เตะบอลให้ได้ ไม่ว่าจะในสวนหลังบ้าน หรือตามลานจอดรถใกล้บ้าน ก่อนเข้าสู่ทีมเยาวชนของ กาเฟเฟ ดรอนเกน สโมสรฟุตบอลท้องถิ่นเมื่ออายุ 6 ขวบ
ขณะที่คุณครูในโรงเรียนประถมก็ตอกย้ำถึงความชอบส่วนตัวของเขาว่า ทุกครั้งที่อยู่ในชั้นเรียนเขาจะนั่งอยู่ติดกับประตูห้องเรียน เพื่อรอจังหวะที่ออดเตือนเวลาเลิกเรียนจะดังขึ้น แล้วรีบวิ่งออกจากประตูอย่างว่องไวเพื่อลงไปเล่นฟุตบอล
แต่เมื่อถึงอายุ 8 ขวบ “เจ้าหนูหัวขิง” ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ก็เริ่มรู้สึกว่าการฝึกซ้อมที่ กาเฟเฟ ดรอนเกน ยังไม่ดีพอที่จะสานฝันของเขาให้เป็นจริงได้ ก่อนทำเรื่องขอย้ายไปอยู่กับ เคเอเอ เกนท์ สโมสรชั้นนำในลีกสูงสุดของเบลเยียม ซึ่งคาแรกเตอร์ของเขาก็เป็นที่จดจำของสตาฟฟ์โค้ช เกนท์ ทั้งในเรื่องพรสวรรค์, ความทะเยอทะยาน, ความปรารถนาอันแรงกล้า และการเกลียดความพ่ายแพ้
จากนั้นเมื่ออายุ 14 ปี เดอ บรอยน์ ก็ก้าวไปอีกขั้นกับการย้ายไปอยู่กับ เคอาร์ซี เกงค์ อีกหนึ่งทีมชั้นในลีกสูงสุดของประเทศ ซึ่งต่อมาได้เป็นที่รู้จักในฐานะสโมสรผู้ปลุกปั้นตัวหลักของทีมชาติเบลเยียม เช่น คริสติยอง เบนเตเก, สตีเวน เดอฟูร์, ติโบต์ กูร์กตัวส์ และ ยานนิค การ์รัสโก
กระทั่งปี 2008 “เคดีบี” ก็ได้รับการโปรโมตขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของ เกงค์ ในวัย 17 ปี แต่ในการฝึกซ้อมครั้งแรก แน่นอนว่าเด็กใหม่อย่างเขายังไม่ได้รับความสนใจจากรุ่นพี่ในทีมมากนัก ในขณะที่เขาเองก็เตรียมตัวอยู่เงียบๆ ตามประสาเด็กขี้อาย แต่เมื่อลงซ้อมในสนามแล้ว เขาก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคนจนยากที่ทุกคนจะมองข้ามเขาไป
เพียงแค่การซ้อมหนแรกซึ่งมีการแบ่งทีมลงเกมเล่นกันเองข้างละ 5 คน เจ้าเด็กน้อยในสายตาของใครหลายๆ คนก็เริ่มเปิดฉากตะโกนสั่งการและแนะนำวิธีการเล่นให้กับนักเตะรอบตัวเขา โดยไม่สนใจว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสมากกว่าก็ตาม ด้วยประโยคต่างๆ ว่า “เฮ้! ขยับมาทางนี้หน่อย” , “คุณต้องวิ่งให้มากกว่านี้นะ” , “คุณต้องขยับไปที่ว่างตรงนั้นเพื่อรับบอลจากผมนะ” หรือจะเป็น “ขอร้องล่ะ, ช่วยเล่นให้ดีกว่านี้หน่อยได้ไหม”
ดาวิด อูแบร์ อดีตกัปตันทีมเกงค์ ที่ปัจจุบันอยู่กับ โอเอช ลูเวิน สโมสรที่มีคนไทยเป็นเจ้าของและเคยดึง กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูทีมชาติไทยมาเล่นในยุโรป เล่าถึง เดอ บรอยน์ ผ่านการสัมภาษณ์กับ Bleacher Report Football เมื่อ 2 ปีก่อนว่า นี่คือเรื่องปกติที่พวกเขาต้องเจอในการซ้อมกับเด็กหนุ่มผู้เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น และต้องการทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ โดยไม่มีการเกรงใจรุ่นพี่ หรือดูเรื่องของอาวุโสก่อนหรือไม่
“ตอนแรกผมก็ตกใจนะที่เจ้าเด็กคนนี้ตะโกนใส่เรา และบอกพวกเราว่ายังเล่นได้ไม่ดีพอ ตลอดจนสั่งการให้เราทำตามที่เขาบอก แต่คุณรู้หรือเปล่าว่าเราเคารพในตัวเขาเพราะเรื่องนี้แหละ ซึ่งเขาก็พูดถูกและเราเองก็ชื่นชมที่เขามีความกล้าที่จะเรียกร้องในสิ่งที่จะทำให้ทีมดีขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าจะต้องไม่น้อยหน้าเจ้าหนูนี่ให้ได้” อูแบร์ เล่าต่อ
เมื่อคลุกคลีกันมากขึ้น บรรดารุ่นพี่ในทีมเกงค์ก็รับรู้ถึงมาตรฐานที่ “เคดีบี” กำหนดเอาไว้สูง ซึ่งเกิดจากการมองเกมในสนามต่างจากคนอื่นๆ และแน่นอนว่าเขาจะหงุดหงิดหากมีใครทำตามไม่ได้ ก่อนจะช่วยอธิบายและหาทางออกให้ด้วยการชี้แนะว่าจะต้องวิ่งแบบไหนอย่างละเอียด เพื่อให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็น
“เควิน ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว แต่เขาทำให้เห็นจริงในสนามด้วย เขาพูดโดยใช้ทั้งปากและฝีเท้า ซึ่งนั่นทำให้เราเคารพในตัวเขา” อูแบร์ ย้ำถึงตัวตนของรุ่นน้องที่เขายอมรับ ในขณะที่ดูเทปการแข่งขันของ แมนฯ ซิตี้ และเห็น เดอ บรอยน์ ตะโกนสั่งรุ่นพี่อย่าง ดาบิด ซิลบา และ เซร์คิโอ อเกวโร เหมือนที่เขาเคยเจอมากับตัว ซึ่งนั่นบ่งบอกว่าผู้เล่นคนนี้ต้องการให้ทุกทีมที่เล่นด้วย เค้นฟอร์มที่ดีที่สุดออกมาเพื่อคว้าชัยชนะ
หลังจากประเดิมสนามนัดแรกในชีวิตค้าแข้งในเกมที่ เกงค์ พบ ชาร์เลอรัว เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2009 ฤดูกาลต่อมา มิดฟิลด์หนุ่มจากเมืองดรอนเกน ก็ได้ฉายแสงเต็มตัว ด้วยการเล่นไปถึง 40 นัดรวมทุกรายการ จากนั้นซีซั่น 2010/11 ก็พา เกงค์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุดเบลเยียมสมัยที่ 3 ของสโมสรมาครอง โดยมีแต้มเหนือกว่าทีมยักษ์ใหญ่อย่าง สตองดาร์ ลีแอช กับ อันเดอร์เลชท์ บนตารางคะแนนรอบเพลย์ออฟชิงแชมป์
อูแบร์ เผยว่าวิธีที่ดีที่สุดในการดึงศักยภาพของ เดอ บรอยน์ ออกมาช่วยทีมในระหว่างที่อยู่กับ เกงค์ คือการให้อิสระในการเล่นอย่างเต็มที่ “เขามักจะพาตัวเองไปหาที่ว่าง และเรียกบอลอยู่เสมอ สตาฟฟ์โค้ชก็แค่ปล่อยให้เขาเล่นไป โดยไม่ต้องสอนหรือแนะนำอะไรมาก เพราะเขารู้ว่าจะต้องทำอะไรในสนามมากกว่าพวกสตาฟฟ์เสียอีก”
วันเวลาผ่านไป ชื่อของ “เคดีบี” ในวัย 20 ปี ก็เริ่มถูกจับตามองจากหลายทีมชั้นนำในยุโรปมากขึ้น ซึ่ง อูแบร์ ก็รู้ดีว่าลีกเบลเยียมคงเล็กเกินไปสำหรับนักเตะฝีเท้าระดับนี้ และสุดท้ายก็เป็น เชลซี ที่ได้ลายเซ็นของเขาพร้อมกับการจรดปากกาเซ็นสัญญาระยะยาวถึง 5 ปีครึ่ง ก่อนมุ่งหน้าสู่อังกฤษด้วยค่าตัว 6.7 ล้านปอนด์ (274.7 ล้านบาท) ในเดือนมกราคม ปี 2012
เกือบได้ร่วมงานกับ คลอปป์ ก่อนพบฝันร้ายที่ เชลซี
พีท เดอ วิสเซอร์ แมวมองรุ่นใหญ่ของวงการผู้ชักนำตำนานดาวยิงทีมชาติบราซิลอย่าง โรมาริโอ และ โรนัลโด ให้ย้ายจากบ้านเกิดมาหาความท้าทายในยุโรป คือ ผู้อยู่เบื้องหลังการย้ายทีมของ เดอ บรอยน์ โดยเขาเป็นคนส่งเทปการเล่นไปให้ โรมัน อบราโมวิช เจ้าของทีมเชลซีได้ดูด้วยตาของตัวเอง และเมื่อดูจบ “เสี่ยหมี” ก็ไม่พูดอะไรนอกจากต่อสายตรงไปบอกทีมสเกาต์ของสโมสรว่า “เดอ บรอยน์ ต้องย้ายมาอยู่กับเรา”
แม้ฝีเท้าของ “เคดีบี” จะโดนใจ อบราโมวิช แต่อำนาจการตัดสินใจว่าจะใช้งานหรือไม่อยู่ที่ตัวกุนซือ ซึ่งหลังจากเซ็นสัญญาแล้ว เขาก็ถูกส่งตัวกลับไปให้ เกงค์ ยืมตัวจนจบฤดูกาล และเมื่อเข้าสู่ซีซั่น 2012/13 ก็ยังถูกปล่อยให้ แวร์เดอร์ เบรเมน ยืมตัวไปอีก แม้ใจจริงเจ้าตัวจะอยากอยู่เพื่อแย่งชิงตำแหน่งตัวจริงในทีมเชลซี แต่เขาก็เข้าใจว่า บุนเดสลีกา เยอรมัน จะเป็นอีกหนึ่งเวทีให้เขาพัฒนาตัวเองได้เช่นกัน
ในขณะที่ “นกนางนวล” ดิ้นรนหนีตายก่อนจบอันดับ 14 ด้วยการมี 3 คะแนนเหนือโซนตกชั้น เดอ บรอยน์ กลับฉายแววเจิดจรัสด้วยการจัดไปถึง 10 ประตู กับอีก 10 แอสซิสต์ พร้อมผงาดคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่ง ซลัตโก ยูนูโซวิช กัปตันทีมชุดนั้นก็ยอมรับในคุณภาพของหนุ่มน้อยจากเบลเยียมว่า แม้จะเป็นคนที่ดูเงียบขรึม แต่เมื่ออยู่ในสนามจะเต็มไปด้วยความจริงจัง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุทำให้ทีมไม่ตกชั้นก็คือ เดอ บรอยน์ นั่นเอง
ยูนูโซวิช เล่าว่า “เคดีบี” ต้องการใช้ผลงานที่ เบรเมน พิสูจน์ตัวเองว่าเขาดีพอเป็น 11 คนแรกของ เชลซี “บุนเดสลีกา คือลีกใหญ่ และที่นี่เขาสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นนักเตะที่พิเศษ ซึ่งครั้งแรกที่ได้เห็นฟอร์มของเขา ผมแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า เชลซี จะปล่อยตัวออกมาได้”
หลังจากสร้างปรากฏการณ์ในลีกสูงสุดเมืองเบียร์ เยอร์เกน คลอปป์ ซึ่งเวลานั้นยังคุมทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก็ยื่นข้อเสนอให้ เดอ บรอยน์ ย้ายมาค้าแข้งในบุนเดสลีกาต่อไปแบบถาวร ซึ่งเจ้าตัวเองก็มีท่าทีสนใจจะคว้าโอกาสนี้ไว้เหมือนกัน แต่ติดปัญหาตรงที่ว่า เชลซี สั่งให้เขากลับสู่ถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ แทน ก่อนที่จะได้พบกับฝันร้ายที่สุดในชีวิตภายใต้เจ้านายคนใหม่ที่ชื่อ โชเซ มูรินโญ
“เคดีบี” เปิดเผยช่วงที่ยากลำบากในอาชีพค้าแข้งผ่านทาง Keep It Simple หนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า “มูรินโญ โน้มน้าวใจให้อยู่ต่อ แม้จะได้รับข้อเสนอที่ดีมากจาก ดอร์ทมุนด์ มาวางบนโต๊ะตรงหน้าผมแล้วก็ตาม แต่เขาบอกว่าเขาเชื่อมั่นในตัวผม และจะให้โอกาสในเกมอุ่นเครื่องปรีซีซั่น รวมถึงในระหว่างฤดูกาล ไม่ใช่แค่ให้เล่นในบอลถ้วย แต่จะได้ลงสนามในพรีเมียร์ลีกด้วย ซึ่งผมก็ตกลงรับคำท้าของเขา และบอกไปว่าจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่มีอยู่”
ซึ่งนัดแรกของ พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2013/14 มูรินโญ ก็ทำตามสัญญาด้วยการส่ง เดอ บรอยน์ ลงตัวจริงในเกมที่เปิดบ้านชนะ ฮัลล์ ซิตี้ 2-0 และเขาก็ตอบแทนด้วยการทำผลงานระดับ ‘แมน ออฟ เดอะ แมตช์’ โดยจัดไป 1 แอสซิสต์ให้ ออสการ์ ทำประตู
แต่เกมถัดมาที่พบ แอสตัน วิลลา เขากลับถูก มูรินโญ ดร็อปเป็นตัวสำรอง ก่อนได้กลับมาลงสนามในแมตช์ต่อไปกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่หนนี้ “เคดีบี” แผลงฤทธิ์ไม่ออก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาไม่ได้ออกสตาร์ตเป็น 11 คนแรกให้ เชลซี ในพรีเมียร์ลีกอีกเลย
เพราะหลังจากนั้นไม่กี่วัน มูรินโญ ก็ไปคว้าตัว วิลเลียน มาร่วมงานด้วยค่าตัว 30 ล้านปอนด์ (1,230 ล้านบาท) และชื่อของ เดอ บรอยน์ ก็ถูกมองข้ามสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ก่อนที่เขาจะเริ่มรู้สึกว่าคิดผิดที่เลือกกลับมาอยู่กับ เชลซี พร้อมระบายความในใจลงในหนังสือของตัวเองว่า “ถ้าผมสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจหนึ่งอย่างในชีวิตได้ ผมจะเลือกย้ายไปอยู่กับ ดอร์ทมุนด์ ในเวลานั้นแทน”
ช่วง 4 เดือนให้หลัง เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเบลเยียมได้ลงสนามให้ เชลซี รวมกันไม่ถึง 300 นาที และได้เล่นเต็มเกมแค่นัดเดียว แต่เวลาในสนามส่วนใหญ่เกิดขึ้นในถ้วยเล็กที่สุดอย่าง ลีกคัพ ส่วนถ้วยใหญ่อย่าง พรีเมียร์ลีก และ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก กลับมีโอกาสแค่เปลี่ยนตัวลงไปในช่วงท้ายเกมเท่านั้น
เมื่อ มูรินโญ ถูกนักข่าวถามว่าทำไมถึงไม่ให้โอกาส “เคดีบี” บ้าง กุนซือชาวโปรตุเกสก็ตอบกลับมาว่า เดอ บรอยน์ ต้องเข้าใจว่าที่นี่คือ เชลซี ไม่ใช่ เบรเมน พร้อมกับขยายความว่าเขาไม่ชอบผลงานในเกมลีกคัพ รอบ 3 ที่พบ สวินดอน และไม่ชอบวิธีการซ้อมด้วย ซึ่งเขาก็เชื่อว่ายังมีคนอื่นที่ดีกว่าอยู่ในทีม
ความข้องใจที่เริ่มสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ มูรินโญ สัมผัสได้ จึงเรียก เดอ บรอยน์ เข้าไปพบพร้อมกับเหล่ามิดฟิลด์ตัวรุกคนอื่นๆ ทั้ง ฆวน มาตา, เอแดน อาซาร์, อันเดร เชือร์เล, วิลเลียน และ ออสการ์ เพื่อกางข้อมูลและเปรียบเทียบสถิติสำคัญในทุกๆ ด้านระหว่างกัน ทั้งจำนวนประตู, แอสซิสต์, การจ่ายบอลชี้เป็นชี้ตาย, การเลี้ยงบอล และเปอร์เซ็นต์การจ่ายบอลสำเร็จ
แต่เรื่องนี้ “เคดีบี” บอกกับ เทเลกราฟ เมื่อปี 2016 เอาไว้ว่า “เขาแค่อยากให้ผมเห็นว่าผมไม่สามารถเล่นได้ในระดับเดียวกับคนที่เหลือ แต่ผมตอบกลับไปว่า ‘ขอโทษนะครับ ผมมีเกมให้ลงเล่นน้อยกว่าคนอื่น แล้วคุณจะเอาผมไปเปรียบเทียบกับคนอื่นได้อย่างไร มันไม่ยุติธรรมเลย’ “
เด็กหนุ่มชาวเบลเยียมรู้สึกอึดอัดใจ และไม่อยากให้ใครเอาตัวเลขสถิติที่เต็มไปด้วยความเย็นชานั้นมากางให้ดู แต่เขาแค่ต้องการใครสักคนที่เชื่อมั่นในตัวเขา ซึ่ง ณ ตอนนั้นเองเขาก็ยอมรับแล้วว่าไม่มีอนาคตกับ เชลซี อีกต่อไปแล้ว เขาอยากย้ายออกไปเพื่อเริ่มต้นใหม่โดยเร็วที่สุด และต้องไม่ใช่การไปในรูปแบบยืมตัวด้วย
อย่างไรก็ตาม มูรินโญ กลับหวงก้าง ไม่อยากขาย เดอ บรอยน์ ไปง่ายๆ พร้อมกับสร้างแรงกดดันให้กลับมาต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งในทีมเชลซีอีกครั้ง แต่ก็ไม่วายตราหน้าเขาว่าเป็น “เด็กงอแง” ซึ่งเวลานั้นใจของ “เคดีบี” ก็ไม่อยู่ในกรุงลอนดอนอีกแล้ว จากนั้นในเดือนมกราคม ปี 2014 โวล์ฟสบวร์ก ก็เป็นอัศวินขี่ม้าขาว พาเขากลับไปเรียกความมั่นใจในเวทีบุนเดสลีกาอีกครั้งด้วยค่าตัว 18 ล้านปอนด์ (738 ล้านบาท)
หลังหลุดพ้นจากฝันร้ายที่อังกฤษ ดีเตอร์ เฮ็คคิง อดีตกุนซือโวล์ฟสบวร์กที่เป็นเจ้านายของ เดอ บรอยน์ ในเวลานั้นยอมรับว่าต้องใช้เวลาในการปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้กลับมาเฉียบคมเหมือนเดิม แต่ด้วยศักยภาพที่มีติดตัวอยู่แล้ว ทำให้เขามั่นใจว่าจะเข้ามาสร้างความแตกต่างได้ไม่ยาก ขณะที่ ทิมม์ โคลเซ กองหลังนอริช ซิตี้ ที่เคยเล่นด้วยกันในทีม “หมาป่า” ก็บอกว่าทุกคนไม่เคยสงสัยในพรสวรรค์ของ “เคดีบี” จากผลงานที่ฝากไว้กับ เบรเมน ขอแค่ให้เวลาฟื้นฟูความมั่นใจเท่านั้น
และในเลกที่ 2 ของฤดูกาล 2013/14 เดอ บรอยน์ ก็ช่วยให้ โวล์ฟสบวร์ก จบอันดับ 5 ของบุนเดสลีกา พร้อมกับเข้ารอบรองชนะเลิศบอลถ้วย เดเอฟเบ โพคาล แม้จะผ่านไปไม่กี่เดือน แต่ผลงานของจอมทัพชาวเบลเยียมก็ไปสะดุดตา เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่ตอนนั้นยังคุมทีมบาเยิร์น มิวนิก แต่ โคลเซ ก็บอกกับเพื่อนซี้คนใหม่ว่ายังเร็วเกินไปที่จะย้ายทีม และควรจะตอบแทน “หมาป่า” ที่ให้โอกาสเขาได้ชุบชีวิตก่อน
จากนั้นฤดูกาล 2014/15 “เคดีบี” ก็กลับมาเปล่งประกายแบบเต็มตัว ด้วยการผงาดคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของบุนเดสลีกา จากผลงานพา โวล์ฟสบวร์ก คว้ารองแชมป์ต่อจาก บาเยิร์น ภายใต้การคุมทีมของ เป๊ป และยังพา “หมาป่า” คว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ด้วยการเอาชนะ ดอร์ทมุนด์ ภายใต้การคุมทีมของ คลอปป์ ในรอบชิงชนะเลิศ โดยที่ตัวเขามีชื่อทำประตูในสกอร์ 3-1 อีกด้วย ส่วน ยูโรปาลีก ก็ทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย
ซึ่งนั่นก็เป็นซีซั่นที่ดีที่สุดสำหรับ เดอ บรอยน์ หากมองในแง่ของผลงานส่วนบุคคลที่เขาลงเล่นอย่างสม่ำเสมอถึง 51 นัดรวมทุกรายการ ยิงไป 16 ลูก และแอสซิสต์ให้เพื่อนทำประตูไปถึง 28 ครั้ง จน เฮ็คคิง เอ่ยปากชมว่าการจ่ายบอลของ “เคดีบี” คือความตื่นตาตื่นใจในเกมลูกหนัง ขณะที่ โคลเซ ก็มองว่าเกิดจากการที่ เฮ็คคิง มอบอิสระในการเล่นให้ หลังจากถูกกักขังเหมือนนักโทษที่ เชลซี แต่เมื่อได้รับการปลดปล่อยก็กลับมาเป็นนักเตะมหัศจรรย์อีกครั้ง
เมื่อได้กลับมาเป็นตัวของตัวเองแล้ว เดอ บรอยน์ ก็แอบมากระซิบกับ โคลเซ ถึงการผจญภัยครั้งใหม่ที่เข้ามาเชื้อเชิญอีกครั้ง โดยกองหลังชาวสวิสเปิดเผยว่า “เคดีบี” มาบอกกับเขาว่าควรทำอย่างไรกับข้อเสนอจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเขาก็ตอบกลับไปพร้อมกับให้ความมั่นใจว่า ‘ถ้าเป็นผม ผมจะโดดเข้าใส่แบบไม่ลังเลเลย’ เพราะเขาคิดอยู่แล้วว่าผู้เล่นชั้นยอดแบบนี้คงอยู่กับ โวล์ฟสบวร์ก ได้ไม่นาน
จากนั้น…ในช่วงซัมเมอร์ปี 2015 เดอ บรอยน์ ก็ชูเสื้อเปิดตัวเป็นสมาชิกใหม่ของ “เรือใบสีฟ้า” ภายใต้ค่าตัวมหาศาลถึง 55 ล้านปอนด์ (2,255 ล้านบาท) แพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเกาะอังกฤษ ณ ตอนนั้น แม้ มานูเอล เปเยกรินี กุนซือในเวลานั้นจะโดนตั้งคำถามว่าอาจเสี่ยงต่อการขาดทุนกับนักเตะที่เพิ่งล้มเหลวในเวทีพรีเมียร์ลีกไม่ถึง 2 ปี แต่ “เคดีบี” ก็ลบคำสบประมาทเหล่านั้นได้ในเวลาอันสั้น
เพียงแค่ฤดูกาลแรกในถิ่นเอติฮัด สเตเดียม ห้องเครื่องทีมชาติเบลเยียมก็คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำเดือนของสโมสรได้ถึง 4 ครั้ง พร้อมกับถล่มไปถึง 16 ประตู กับอีก 13 แอสซิสต์ พาทีมคว้าแชมป์ลีกคัพ และทะยานเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ได้เป็นครั้งแรก จน เปเยกรินี ถึงกับให้คำนิยามว่า “ผู้เล่นที่สมบูรณ์แบบ”
ความเชื่อใจของ เป๊ป ก่อกำเนิดจอมคาถาแห่ง แมนฯ ซิตี้
อย่างไรก็ดี ผู้จัดการทีมชาวชิลีกลับได้ร่วมงานกับ เดอ บรอยน์ แค่ซีซั่นเดียว ก่อนหลีกทางให้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา เข้ามาสานงานต่อในช่วงซัมเมอร์ปี 2016 ซึ่งก็เหมือนกับเป็นพรหมลิขิตบันดาลชักพาให้ได้มาเป็นเจ้านายของ “เคดีบี” ในที่สุด หลังจากเคยอยากได้ตัวมาตั้งแต่อยู่กับ บาเยิร์น เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น
เมื่อผ่านการขัดเกลาโดยยอดกุนซือแห่งยุคอย่าง เป๊ป ทำให้ เดอ บรอยน์ ฉายแสงออกมาอย่างเต็มที่ยิ่งกว่าเดิม เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ของฤดูกาลนั้น ดาวเตะเท้าชั่งทองก็ควบคุมเกมของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้อยู่แทบเท้าของเขา ก่อนพา แมนฯ ซิตี้ บุกไปคว้าชัยกลับออกมาจากโอลด์ แทรฟฟอร์ด 2-1 และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งคู่
ในซีซั่นแรกที่ได้ทำงานด้วยกัน เป๊ป ก็จับ “เคดีบี” ให้รับบทหลายตำแหน่งในแผนการเล่นต่างๆ ของเขา ทั้งการจับไปยืนมิดฟิลด์ตัวกลาง, ปีก 2 ข้าง, หน้าต่ำ หรือแม้กระทั่งวิงแบ็กฝั่งซ้าย เพื่อดูว่าตำแหน่งไหนที่ดีที่สุดในการดึงพรสวรรค์ของผู้เล่นรายนี้ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
แต่ถึงจะโดนสับเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย เดอ บรอยน์ ก็ยังจัดให้ เป๊ป ไปถึง 18 แอสซิสต์ และสร้างโอกาสลุ้นทำประตูในพรีเมียร์ลีกได้เกิน 100 ครั้ง เป็นรอง คริสเตียน เอริคเซน ของสเปอร์สแค่คนเดียว
หลังจากการทดลองเสร็จสิ้น เป๊ป ก็ได้ตำแหน่งที่ลงตัวกับคุณสมบัติของ เดอ บรอยน์ นั่นคือ “หมายเลข 8 ตัวฟรี” ซึ่งมีตำแหน่งการยืนที่ต่ำลงมาเล็กน้อยในแผงมิดฟิลด์ โดยเน้นไปที่ความสามารถในการสร้างสรรค์เกม, ควบคุมจังหวะการเล่นของทีม และทำหน้าที่เหมือนกับ “ควอเตอร์แบ็ก” ในอเมริกันฟุตบอล ในฐานะผู้ออกบอลเพื่อเปิดเกมรุกเข้าโจมตีคู่แข่ง โดยใช้มันสมองในการอ่านเกม, การตัดสินใจ และการผ่านบอลอันแม่นยำ
ส่วนหน้าที่ของเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ นั้น เป๊ป อธิบายเพียงสั้นๆ ว่า “ขอแค่วิ่งทำทาง แล้ว เดอ บรอยน์ จะมองหาคุณให้เจอเอง”
ผลงานหลังจากนั้นของ แมนฯ ซิตี้ ที่มี “เคดีบี” เป็นพ่อมดเสกคาถาคอยออกบอลให้เพื่อนอย่างคมกริบและแม่นยำเหมือนจับวาง รวมถึงจบสกอร์ด้วยตัวเองบ้างในบางเวลาก็พาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาได้ 2 สมัย, เอฟเอ คัพ 1 สมัย, ลีกคัพ 3 สมัยซ้อน และคอมมิวนิตี ชิลด์ อีก 1 สมัย
วันที่ 8 กันยายนที่เพิ่งผ่านมา เดอ บรอยน์ ก็กลายเป็นนักเตะคนแรกจากค่าย “เรือใบสีฟ้า” ที่ได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของ พีเอฟเอ ซึ่งเขาก็ยกเครดิตให้กับ เป๊ป ไปเต็มๆ ว่า “เขามอบอิสระมากมายให้กับผม ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่น่าจะเป็นเพราะเขารู้ว่าผมจะต้องเล่นเพื่อทีมเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะเล่นเพื่อตัวเอง และเขาก็ไว้ใจผมมาก”
และนี่คือสถิติของ เควิน เดอ บรอยน์ ในฐานะจอมเวทย์ผู้สร้างสรรค์โอกาสทำประตูได้อย่างเป็นกอบเป็นกำตลอดชีวิตการค้าแข้ง ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติเบลเยียม (นับจนถึงก่อนเกมบุกไปเยือน วูล์ฟแฮมป์ตัน ในนัดแรกของ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2020/21)
จากผลงานทั้งหมดของ “เคดีบี” คงอธิบายได้ด้วยคำสัมภาษณ์ที่ เป๊ป เคยกล่าวไว้กับ บีบีซี เมื่อเดือนกันยายน ปี 2016 ในช่วงที่เพิ่งเข้ามาทำงานกับ แมนฯ ซิตี้ ใหม่ๆ และได้รู้จักกับยอดดาวเตะพรสวรรค์สูงรายนี้ว่า “หาก ลิโอเนล เมสซี คือสุดยอดนักเตะแล้ว คนที่อยู่ลำดับถัดไปก็ต้องเป็น เควิน เดอ บรอยน์”
เรื่อง : ชัช บางแค
กราฟิก : Taechita Vijitgrittapong, Supassara Taiyansuwan
Credit : https://www.thairath.co.th/