จากภาพวิดีโอที่บันทึกด้วยกล้อง 8 มิล สู่การเป็นตำนานนักฟุตบอลของญี่ปุ่น และยังยืนหยัดค้าแข้งจนถึงตอนนี้ในวัย 53 ปี อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ “คิง คาซู” อยู่ยงคงกระพันในวงการลูกหนัง ไปติดตามกัน
วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา โยโกฮามา เอฟซี ทีมน้องใหม่ของศึกเจ-ลีก ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของฟุตบอลอาชีพในประเทศญี่ปุ่น ประจำฤดูกาล 2020 กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อพวกเขาส่ง “คาซูโยชิ มิอุระ” ศูนย์หน้ารุ่นคุณน้า วัย 53 ปี ลงสนามเป็น 11 คนแรก ในศึกลูวาน คัพ (ลีกคัพของญี่ปุ่น) รอบแบ่งกลุ่ม นัดที่ 2 กลุ่มซี พบ ซากัน โตสุ
เกมวันนั้น คาซูโยชิ มิอุระ สวมปลอกแขนกัปตันทีมลงไปยืนหัวหอกคู่กับ ยูกิ คุซาโนะ เป็นเวลานานถึง 63 นาที ก่อนถูกเปลี่ยนตัวออกมาพัก และ โยโกฮามา เอฟซี ก็มาได้ประตูชัยในนาทีสุดท้าย เอาชนะไป 1-0
เท่านั้นไม่พอ คาซูโยชิ มิอุระ ยังแสดงให้เห็นถึงความฟิตด้วยการออกสตาร์ตเป็นตัวจริงอีกครั้งใน 1 สัปดาห์ให้หลังในรายการเดียวกัน โดยหนนี้ได้เผชิญหน้ากับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ที่มี 2 นักเตะตัวหลักทีมชาติไทยไปค้าแข้งด้วย แต่น่าเสียดายที่ “เมสซีเจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ ไม่มีชื่อในนัดนั้น มีเพียง “เจ้าตอง” กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ที่ได้ลงเฝ้าเสาเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ย้ายมาจาก โอเอช ลูเวิน ในเบลเยียม ก่อนที่เกมจะจบลงด้วยผลเสมอ 1-1 โดย คาซู ได้สัมผัสเกมนานถึง 55 นาที
แม้จะอยู่ในสนามได้ไม่ครบ 90 นาทีทั้ง 2 นัดที่ได้ลงเล่นในซีซั่นนี้ แต่การค้าแข้งระดับอาชีพโดยเฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นลีกอันดับ 1 ของทวีปเอเชียได้จนถึงอายุ 53 ปี ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ใครก็ยากจะทำตามได้ แต่อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้เขายืนระยะเล่นฟุตบอลเคียงข้างกับนักเตะรุ่นลูกรุ่นหลานได้จนถึงตอนนี้ เราลองย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นบนเส้นทางของเขากันก่อน
“เปเล่” แรงบันดาลใจในวิดีโอจากกล้อง 8 มิล
คาซู เริ่มเรื่องในการให้สัมภาษณ์กับ โอเวน เอมอส และ ฮิเดะฮารุ ทามุระ ผู้สื่อข่าวและล่ามภาษาญี่ปุ่นจาก บีบีซี นิวส์ โดยเท้าความไปถึงสมัยยังเด็ก ซึ่งเขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่คลั่งไคล้ฟุตบอลในเมืองชิซุโอกะ แม้แต่ ยาสุโตชิ มิอุระ พี่ชายของเขาก็ยังเป็นนักเตะอาชีพเหมือนกัน ส่วนคุณพ่อของเขาก็เป็นแฟนตัวยงของกีฬาชนิดนี้
“คุณพ่อของผมถึงกับบินไปที่เม็กซิโก เพื่อชมฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ปี 1970 ที่นั่น” คาซู เล่าให้ฟังผ่านล่าม “ซึ่งคุณพ่อก็บันทึกเกมการแข่งขันด้วยกล้อง 8 มิล (กล้องบันทึกวิดีโอแบบโบราณ) ตอนนั้น เปเล่ (ดาวยิงทีมชาติบราซิล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศูนย์หน้าที่ดีที่สุดตลอดกาล) ก็ลงเล่นด้วย ก่อนคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 มาครอง และผมก็เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการนั่งดูวิดีโอของคุณพ่อ”
ในปี 1970 คาซู ยังเป็นเด็กน้อยวัยเพียง 3 ขวบเท่านั้น แต่การดูวิดีโอที่คุณพ่อของเขาถ่ายกลับมาจากทัวร์นาเมนต์นั้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เขาซึมซับมนต์เสน่ห์ของเกมลูกหนังทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งกลายเป็นแฟนผู้หลงใหลการเล่นฟุตบอลสไตล์แซมบ้า ก่อนพัฒนาสู่ความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นนักเตะอาชีพ
เมื่อถึงอายุ 15 ปี คาซู ก็เริ่มต้นเส้นทางพ่อค้าแข้งด้วยการเป็นนักฟุตบอลเยาวชนของทีมโรงเรียนมัธยมชิซุโอกะ กาคุเอ็น แต่ยังไม่ทันที่เขาจะได้อยู่จนครบปีการศึกษา คุณพ่อก็ได้รับการติดต่อมาจากบราซิล ดินแดนของทีมชาติที่เป็นแรงบันดาลใจของลูกชาย และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งใหม่ในโลกกว้าง ซึ่งแน่นอนว่า คาซู ต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปตามความฝัน
“เวลานั้น ญี่ปุ่น ยังไม่มี เจ-ลีก (ฟุตบอลลีกอาชีพของญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งถือกำเนิดในปี 1993) ผมจึงไม่มีหนทางที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่บ้านเกิด” คาซู เล่าถึงสาเหตุที่ต้องออกไปแตะขอบฟ้า ก่อนที่เขาจะได้เซ็นสัญญากับ คลับ แอตเลติโก ยูเวนตุส สโมสรฟุตบอลอาชีพในรัฐเซา เปาโล
แต่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคยนั้นเป็นเรื่องยากเสมอ คาซู ต้องอาศัยอยู่ในหอพักร่วมกับนักเตะเยาวชนผู้ล่าฝันคนอื่นๆ ไล่ตั้งแต่อายุ 15 ถึง 20 ปี โดยที่เขาพูดภาษาโปรตุเกสซึ่งเป็นภาษาราชการของประเทศบราซิลได้เพียงไม่กี่คำเท่านั้น
คาซู บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่เกิดความท้อแท้ว่า “ตอนนั้นผมไม่เข้าใจภาษาเลย และยังต้องเจอกับวัฒนธรรมต่างถิ่นที่ไม่คุ้นเคยอีก มันทำให้ผมรู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งคว้างมาก ช่วง 3 เดือนแรกที่นั่นมันช่างยากลำบากจริงๆ”
แต่ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ คาซู ก็ตั้งสติแล้วหันมาทุ่มเทในระหว่างการฝึกซ้อมแต่ละครั้ง พร้อมทั้งเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้เอาไว้ใช้ผูกมิตรกับคนรอบข้างให้มากที่สุด เพราะเขาเดินทางมาที่นี่เพื่อเป้าหมายเดียวในชีวิต นั่นคือการเป็นนักเตะอาชีพ โดยไม่มีการเตรียมแผนสำรองเอาไว้เลย
และเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามกลับมาว่า ถ้าไม่ได้เป็นนักฟุตบอลแล้วจะไปทำอาชีพอะไร เขาก็ถึงกับอ้ำอึ้งและหยุดนิ่งไปชั่วขณะ “ผมคิดไม่ออกเลย” คาซู เริ่มสนทนาอีกครั้ง “สิ่งที่ผมปรารถนามากที่สุดในชีวิตนี้ คือการเป็นนักฟุตบอลเท่านั้น สำหรับคนอื่นอาจจะเป็นคำถามง่ายๆ นะ แต่สำหรับผมแล้วมันเป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากมาก”
ปี 1986 หลังจากใช้ชีวิตในดินแดนแซมบ้ามา 3 ปี คาซู ก็ได้เซ็นสัญญากับ ซานโตส สโมสรที่ เปเล่ ยอดนักเตะที่เขาเคยดูผ่านวิดีโอจากกล้อง 8 มิลของคุณพ่อเมื่อตอนเด็กๆ อยู่ค้าแข้งเป็นเวลานานถึง 18 ปี จากนั้น คาซู ก็โลดแล่นอยู่กับทีมต่างๆ ในบราซิลถึง 6 สโมสรตลอด 4 ปี ทั้ง พัลเมรัส, มัตซูบารา, ซีอาร์บี, ชีส์เว เดอ เจา, กูริติบา ก่อนกลับมา ซานโตส ในปี 1990
ปีเดียวกันนั้นเองก็ถึงเวลาที่ คาซู จะได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ โดยร่วมงานกับ เวอร์ดี คาวาซากิ เพื่อรอเวลาที่ เจ-ลีก ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นจะเปิดฉากฤดูกาลแรกอย่างเป็นทางการในปี 1993 ซึ่งเพียงแค่ซีซั่นแรก ประสบการณ์ที่ไปเก็บเกี่ยวมาจากบราซิลก็ผลิดอกออกผล จนส่งให้เขาคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าของ เจ-ลีก ทันที เหนือผู้ท้าชิงคนอื่นๆ ที่มี แกรี ลินิเกอร์ อดีตดาวยิงทีมชาติอังกฤษ ดีกรีดาวซัลโวฟุตบอลโลก ปี 1986 ของ นาโกยา แกรมปัส เอต รวมอยู่ด้วย
นักเตะญี่ปุ่นคนแรกใน เซเรีย อา สู่ฉายา “คิง คาซู”
ปีถัดมา ฝีเท้าของ คาซู ก็ไปเข้าตาแมวมองจนได้โอกาสย้ายไปค้าแข้งในทวีปที่ 3 ในชีวิตอย่าง “ยุโรป” แม้ปลายทางจะอยู่ที่ เจนัว ทีมระดับกลางของอิตาลีที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตด้วยดีกรีแชมป์ลีกสูงสุด 9 สมัย แต่ก็ทำให้เขากลายเป็นนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนแรกที่ได้มาวาดลวดลายในศึกกัลโช เซเรีย อา
แต่เพียงแค่เกมแรกที่ลงเล่นให้กับทัพ “กริโฟเน” คาซู ก็ต้องพบฝันร้าย เมื่อเขาได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้ารับการผ่าตัด จากการปะทะกับสุดยอดกองหลังแห่งยุคอย่าง ฟรังโก บาเรซี กัปตันทีมเอซี มิลาน ซึ่งเขาได้อยู่ในสนามแค่ 45 นาที ก่อนที่ เจนัว จะแพ้ 0-1 เมื่อวันที่ 4 กันยายน ปี 1994 และเขาต้องหายไปจากทีมนานถึง 6 นัด ก่อนหายกลับมามีชื่อบนม้านั่งสำรองอีกครั้ง
แม้เขาจะได้เล่นในเมืองมะกะโรนีเพียงแค่ฤดูกาลเดียว โดยลงสนามไปทั้งสิ้น 21 นัดรวมทุกรายการ ยิงได้เพียง 1 ประตู ในเกมกัลโช เซเรีย อา ที่บุกไปชนะ ซามพ์โดเรีย 3-2 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1994 แต่แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป…ทันทีที่กลับถึงญี่ปุ่น
ฌอน แคร์โรลล์ ผู้สื่อข่าวฟุตบอลที่ทำงานอยู่ในแดนซามูไร เผยถึงสถานะของ คาซู หลังหอบสตั๊ดกลับมาจากอิตาลีว่า “เขาเปรียบเสมือนหนึ่งในผู้ตอกเสาเข็มและช่วยสร้างรากฐานการพัฒนาให้กับวงการฟุตบอลอาชีพที่ญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ เขาได้รับสถานะให้เป็นเหมือนกับพระเจ้า เช่นเดียวกับที่ ดิเอโก มาราโดนา ได้รับการยกย่องจากชาวอาร์เจนตินา และนักฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นทั้งในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน ก็น่าจะมีเขาเป็นต้นแบบในสมัยเด็กๆ แทบทุกคน”
ด้วยเหตุนี้เอง คาซูโยชิ มิอุระ จึงได้รับฉายาว่า “คิง คาซู” ผู้เป็นที่เคารพรักและศรัทธาจากวงการฟุตบอลแดนอาทิตย์อุทัย
แต่เพราะเหตุใด เขาจึงยังไม่แขวนสตั๊ดเลิกเล่น และยังคงค้าแข้งจนถึงตอนนี้ ทั้งที่อายุอานามก็ล่วงเลยมาจนแตะหลัก 53 ปีเข้าไปแล้ว
ถึงวัยจะล่วงเลยมา 53 ปี แต่อายุเป็นเพียงตัวเลข
เข้าสู่ปี 2005 อายุของ “คิง คาซู” ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 38 ปี แต่ไฟในตัวของเขายังไม่มอดไหม้ไปตามกาลเวลา โดยเลือกที่จะเซ็นสัญญากับ โยโกฮามา เอฟซี ต้นสังกัดปัจจุบัน ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังอยู่ในระดับเจทู (รองจากเจ-ลีก) และเขาก็สามารถเป็นผู้เล่นตัวหลักของทีมได้อย่างสบายๆ โดยลงสนามไปถึง 39 นัด พร้อมกับพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในปี 2006
แม้ โยโกฮามา เอฟซี จะตกชั้นกลับสู่เจทูภายในปีเดียว แต่ “คิง คาซู” ก็ยังมีสภาพร่างกายดีพอที่จะได้ลงสนามอย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่วัยก็เข้าสู่หลัก 40 แล้ว แต่เขายังยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปี 2016 เขาก็ยังได้เล่นไปถึง 20 นัด ยิงไป 2 ประตูในวัย 49 ปี
หากไม่นับการผ่าตัดที่เกิดจากการปะทะกับ ฟรังโก บาเรซี สมัยที่ยังเล่นในอิตาลีให้ เจนัว แล้ว “คิง คาซู” ก็แทบจะไม่ถูกอาการบาดเจ็บรบกวนเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับนักฟุตบอลรุ่นลายครามอย่างเขา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่ทำให้ผู้คนยังจดจำเขาได้ด้วย
อันที่จริง “คิง คาซู” ก็ยอมรับในสัจธรรมว่าด้วยสังขารขนาดนี้ หากเขาเจ็บขึ้นมาย่อมใช้เวลาฟื้นฟูนานกว่านักเตะหนุ่มๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการหลีกเลี่ยงไม่ให้บาดเจ็บเลยจะเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ทำให้เขายังรักที่จะยืนอยู่ตรงนี้ ก็คือความกระหายที่จะลงไปเล่นในสนาม
ซึ่งความกระหายที่ว่าเกิดขึ้นจาก “ความนิยมชมชอบ” ของเหล่าแฟนๆ ที่ติดตามเชียร์เขา แม้ในปี 1998 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทีมชาติญี่ปุ่นที่ได้ไปลุยศึกฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย “คิง คาซู” จะถูกกุนซือ ทาเคชิ โอคาดะ ตัดชื่อออกจากทีม ทั้งที่เขาจัดไปถึง 14 ประตูในรอบคัดเลือก โซนเอเชีย จนพา “ซามูไร บลู” ตีตั๋วไปฝรั่งเศสได้สำเร็จ ทำให้ไม่ได้เพิ่มเกียรติประวัติให้กับชีวิตค้าแข้งของตัวเอง
แต่นั่นก็ไม่ทำให้คะแนนนิยมของเขาในสายตาชาวญี่ปุ่นลดลงไป ซึ่งเรื่องนี้ อลัน กิบสัน บรรณาธิการนิตยสาร เจ ซอคเกอร์ ที่ได้พบกับ “คิง คาซู” มาตั้งแต่ปี 1993 ก็ออกมาสนับสนุนว่า “ใครๆ ก็รักเขาด้วยความที่เขาเป็นสุภาพบุรุษทั้งในและนอกสนาม ต่อให้เขาไม่ได้แชมป์หรือเล่นให้ทีมที่คนพากันเกลียดก็ตาม ซึ่ง โยโกฮามา เอฟซี จะได้ประโยชน์ตรงนี้จากเขา”
ด้วยความนิยมที่มีต่อ “คิง คาซู” เมื่อใดก็ตามที่แฟนบอลรู้ว่าจะมีชื่อเขาลงสนาม เกมนั้นก็จะมีแฟนบอลเข้ามาชมเพิ่มขึ้นอีกราว 3,000-4,000 คน ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นให้บรรดาสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนทีมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และสิ่งนี้ก็เชื่อมโยงกับเหตุผลสุดท้ายในการยืนระยะของ “คิง คาซู” นั่นคือ ความเคารพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังในสังคมญี่ปุ่นมาช้านาน
แม้ฤดูกาล 2020 หัวหอกดาวค้างฟ้าของวงการลูกหนังแดนปลาดิบจะได้ลงเล่นแค่ 2 เกมในศึกลูวาน คัพ และยังไม่สัมผัสเกมเจ-ลีก เลย ส่วนปีที่แล้วก็ได้ลงสนามแค่ 5 นัดในทุกรายการ แต่ ฌอน แคร์โรลล์ บอกว่า สิ่งที่ โยโกฮามา เอฟซี ต้องการจากตัว “คิง คาซู” คือ ประสบการณ์ในฐานะลูกพี่ในห้องแต่งตัว
“การให้ความสำคัญกับลำดับความอาวุโสถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น และเมื่อคุณให้ คาซู มีส่วนร่วมกับทีมมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งมีความต้องการที่จะต่อสัญญาให้ยาวนานออกไปมากขึ้นเท่านั้น เมื่อรวมกับการที่เขาเป็นคนทำงานหนัก และแสดงออกให้เห็นถึงการเป็นแรงบันดาลใจสำหรับรุ่นน้องที่ได้รับการยกย่องทั้งจากแฟนบอลและสื่อต่างๆ ก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาเขียนภาคต่อของนิยายเรื่องนี้ออกไปแบบไม่รู้จบ” นักข่าวผู้คร่ำหวอดในเจ-ลีก เน้นย้ำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะยังอธิบายสาเหตุที่ “คิง คาซู” อยู่ยงคงกระพันในสังเวียนลูกหนังจนถึงอายุ 53 ปีได้ไม่ชัดเจนนัก และเจ้าตัวเองก็ตอบคำถามที่ถูกถามมาโดยตลอดว่า “เคล็ดลับ คืออะไร ?” ด้วยการทิ้งปริศนาว่าเขาไม่เคยมีเคล็ดลับใดๆ ทั้งนั้น นอกจาก “การทำงานให้หนัก” และ “ทุ่มเทให้กับสิ่งนั้น”
แต่บางทีเคล็ดลับอาจจะอยู่ในคำตอบของคำถามสุดท้าย ที่ถูกถามว่าทำไมเขาในวัย 53 ปีถึงยังคงสนุกกับการวิ่งไล่เตะลูกฟุตบอลในพื้นหญ้าสีเขียว ไม่ต่างกับตอนที่ยังเป็นเด็กหนุ่มวัย 15 ปีที่ออกเดินทางไปยังดินแดนอันแสนไกลที่บราซิล ด้วยความรู้เรื่องภาษาโปรตุเกสเพียงแค่หยิบมือเดียว แต่หอบความฝันติดตัวไปอย่างเต็มเปี่ยม
และ “คิง คาซู” ก็ฝากคำตอบสุดท้ายเอาไว้ว่า “ใช่ ผมยังสนุกกับการเล่นฟุตบอลในทุกๆ วินาที จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าตอนนี้ผมน่าจะสนุกกับมันมากกว่าตอนที่ผมไปเล่นที่บราซิลด้วยซ้ำ”
เรื่อง : ชัช บางแค
กราฟิก : Theerapong Chaiyatep, Supassara Taiyansuwan
Credit : https://www.thairath.co.th/