แมนฯ ซิตี้ กับ เชลซี อาจไม่ได้เตะนัดชิง ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ทั้งที่อังกฤษและตุรกี เผย สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป มีตัวเลือกที่ไม่ติดมาตรการโควิด-19
วันที่ 11 พ.ค. 64 หลังจาก สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ประชุมวาระพิเศษร่วมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เมื่อวานนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการย้ายสังเวียนรอบชิงชนะเลิศ ศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ เชลซี 2 ทีมจากพรีเมียร์ลีกที่โคจรมาเจอกันเอง
ทั้งนี้ รัฐบาลเมืองผู้ดีไม่แนะนำให้แฟนบอลของทั้ง 2 ทีมเดินทางไปเชียร์ติดขอบสนาม ซึ่งก่อนหน้านี้ ยูฟ่า เลือก อตาเติร์ก โอลิมปิก สเตเดียม ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นสังเวียนรอบชิงชนะเลิศ วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคมนี้ แต่ ตุรกี ยังอยู่ในบัญชีประเทศพื้นที่สีแดงซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 หากใครเดินทางไปแล้วกลับเข้าประเทศจะต้องผ่านการกักตัว 10 วันตามมาตรการของสหราชอาณาจักร
เบื้องต้น รัฐบาลผู้ดี และ เอฟเอ ได้เสนอให้ย้ายมาแข่งขันกันที่ เวมบลีย์ สนามกีฬาแห่งชาติของอังกฤษในกรุงลอนดอน และยินดีขยับศึกแชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ เพื่อหาทีมสุดท้ายที่จะได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ต่อจาก นอริช ซิตี้ และ วัตฟอร์ด ซึ่งเดิมทีจะเตะวันเดียวกับคู่ชิง ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ออกเป็นวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม เพื่อเปิดทางให้ศึกชิงแชมป์สโมสรยุโรประหว่าง แมนฯ ซิตี้ กับ เชลซี
อย่างไรก็ตาม บีบีซี สปอร์ต รายงานว่า อังกฤษ ยังตกลงกับ ยูฟ่า ไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการยกเว้นให้เจ้าหน้าที่ยูฟ่า, ทีมงานถ่ายทอดสด และตัวแทนสปอนเซอร์ที่จะเข้าสนามในแมตช์ตัดสินแชมป์สโมสรยุโรป รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 คน ไม่ต้องผ่านการกักตัวหากเดินทางมาที่อังกฤษ
ด้วยเหตุนี้ทำให้ ยูฟ่า พิจารณาให้ แมนฯ ซิตี้ และ เชลซี ย้ายไปฟาดแข้งกันที่ประเทศโปรตุเกส ซึ่งอยู่ในบัญชีประเทศพื้นที่สีเขียวที่มีความเสี่ยงต่ำ และไม่ต้องผ่านกระบวนการกักตัวตามมาตรการโควิด-19 ของสหราชอาณาจักร โดยเล็งไว้ 2 เมือง คือ ลิสบอน ที่เคยรับหน้าเสื่อในรอบน็อกเอาต์เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ในช่วงหลังจากที่อนุญาตให้กลับมาแข่งขันกันต่อได้ ส่วนอีกเมืองที่เป็นตัวเต็ง คือ ปอร์โต
หากตกลงกันได้ ทั้ง 2 สโมสรจะได้รับโควตาตั๋วเข้าชมในสนามสำหรับแฟนบอลทีมละ 4,000 คน แต่ยังต้องรอการหารือเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบภายในวันพุธที่ 12 พฤษภาคมนี้